หลักเกณฑ์การทดสอบปั้นจั่น
หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น
ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น
โดยที่กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย
และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. ๒๕๕๒ กำหนดให้
นายจ้างต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นปีละไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้งตามประเภท
และลักษณะของงาน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด
อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๕๐ แห่งกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการ
จัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น
และหม้อน้ำ พ.ศ. ๒๕๕๒ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการกำจัดสิทธิ
และเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์
และวิธีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้นายจ้างจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นตามประเภท
และลักษณะของงาน ดังนี้
(๑) ปั้นจั่นที่ใช้ในงานก่อสร้าง
(ก) ขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนดไม่เกิน ๓ ตัน ต้องจัดให้มีการ
ทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นทุก ๆ ๖ เดือน
(ข) ขนาดพิกัดยกมากกว่า ๓ ตันขึ้นไป ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและ
อุปกรณ์ของปั้นจั่นทุก ๆ ๓ เดือน
(ค) ที่ไม่มีรายละเอียดขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนดในการทดสอบ
ให้นายจ้างทดสอบโดยใช้ขนาดพิกัดยกตามที่วิศวกรกำหนด
(๒) ปั้นจั่นที่ใช้งานอื่น ๆ
(ก) ขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนดตั้งแต่ ๑ ตัน แต่ไม่เกิน ๓ ตัน
ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นปีละ ๑ ครั้ง
(ข) ขนาดพิกัดยกมากกว่า ๓ ตัน แต่ไม่เกิน ๕๐ ตัน ต้องจัดให้มีการทดสอบ
ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นทุก ๆ ๖ เดือน
(ค) ขนาดพิกัดยกมากกว่า ๕๐ ตันขึ้นไป ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบ
และอุปกรณ์ของปั้นจั่นทุก ๆ ๓ เดือน
(ง) ที่ไม่มีรายละเอียดขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด ในการทดสอบ
ให้นายจ้างทดสอบโดยใช้ขนาดพิกัดยกตามที่วิศวกรกำหนด
ข้อ ๔ ปั้นจั่นตามข้อ ๓ ที่หยุดการใช้งานตั้งแต่ ๖ เดือนขึ้นไป หรือปั้นจั่นที่มีการ
ซ่อมแซมที่มีผลต่อความปลอดภัยของปั้นจั่น ก่อนนำ มาใช้งานใหม่จะต้องจัดให้มีการทดสอบ
ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น
ข้อ ๕ หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น ให้ดำเนินการดังนี้
(๑) การทดสอบการรับน้ำหนัก
(ก) ปั้นจั่นใหม่ ก่อนจะนำมาใช้งานให้ทดสอบการรับน้ำหนักดังนี้
๑) ขนาดไม่เกิน ๒๐ ตัน ให้ทดสอบการรับน้ำหนักที่ ๑ เท่า แต่ไม่เกิน ๑.๒๕ เท่า
ของพิกัดยกอย่างปลอดภัย
๒) ขนาดมากกว่า ๒๐ ตัน แต่ไม่เกิน ๕๐ ตัน ให้ทดสอบการรับน้ำหนักเพิ่มอีก
๕ ตัน จากพิกัดยกอย่างปลอดภัย
(ข) ปั้นจั่นที่ใช้งานแล้ว ให้ทดสอบการรับน้ำหนักที่ ๑.๒๕ เท่าของน้ำหนัก ที่ใช้งานจริง
สูงสุดโดยไม่เกินพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด กรณีไม่มีพิกัดยกอย่างปลอดภัยที่ผู้ผลิต
กำหนด ให้ทดสอบการรับน้ำหนักตามที่วิศวกรกำหนด
น้ำหนักที่ใช้ทดสอบการยก อาจใช้การทดสอบด้วยน้ำหนักจริง หรือทดสอบด้วยน้ำหนัก
จำลอง (Load Simulation)
(๒) การวัดขนาดและเส้นผ่านศูนย์กลางให้ใช้เครื่องมือที่มีความละเอียดในการวัดไม่น้อยกว่า
๐.๑ มิลลิเมตร
(๓) การตรวจสอบแนวเชื่อมให้ดำเนินการโดยวิธีตรวจพินิจด้วยสายตา หรือโดยวิธีอื่น
ที่เหมาะสม
ข้อ ๖ นายจ้างต้องจัดให้มีเอกสารที่มีข้อมูลรายการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์สำหรับ
ปั้นจั่น โดยมีวิศวกรเครื่องกลเป็นผู้รับรอง ภาพถ่ายของวิศวกรขณะทดสอบ และสำเนาใบอนุญาต
ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม และเก็บไว้เป็นหลักฐานให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้
ข้อ ๗ นายจ้างต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ วิธีการแก้ไขข้อบกพร่องของโครงสร้างหรือ
ส่วนประกอบของปั้นจั่นส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดหรือความไม่สมบูรณ์เชิงวิศวกรรมตามบันทึก
ของวิศวกรผู้ทดสอบ
ประกาศ ณ วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
ซึ่งบริษัท นะชาลีติ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ได้ให้บริการทดสอบเครนเหนือศีรษะ (ปั้นจั่น) ครบวงจร